วันกองทัพไทย

วันรำลึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อครั้ง พ.ศ. 2135 ถึงวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า  ในระหว่างการสู้รบนั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ได้แล่นไล่ล่าศัตรูจนออกนอกเขตแดนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกอยู่ในวงล้อมของทัพศัตรู  โดยได้กระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาอย่างสมพระเกียรติ    ซึ่งนับเป็นการทำยุทธหัตถีครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย นับแต่นั้นไม่ปรากฏว่ามีทัพใดมารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกเลย  

วาระอันสำคัญนี้ควรค่าแก่การระลึกถึง จึงได้กำหนดให้เป็นวันกองทัพไทย ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกความกล้าหาญของบูรพกษัตริย์ตลอดจนเหล่าบรรพชนไทยผู้กล้า ผู้เสียสละชีพเพื่อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยรวมทั้งเพื่อให้ทหารหาญไทยได้ระลึก และภาคภูมิใจในหน้าที่ ด้วยความรักและสามัคคีพร้อมปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยคุณูปการต่อปวงชนชาวไทย เพื่อชาวไทยได้มีชาติไทยที่ดำรงอยู่อย่างมีเอกราชสืบไป

ที่มาของวันกองทัพไทย  

ทั้งนี้แต่เดิมนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน อันเป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ให้เป็นวันกองทัพไทยด้วย ครั้นต่อมาในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปลี่ยนวันกองทัพไทยให้เป็นวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เนื่องจากเห็นว่าวันกองทัพไทย ควรเป็นวันสำคัญในทางประวัติศาสตร์ไทยที่แสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละของผู้ปกป้องผืนแผ่นดินไทย ซึ่งควรเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จศ. 954 และมีผู้คำนวณทางประวัติศาสตร์ไว้ว่าตรงกับวันที่ 25 มกราคม คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 25 มกราคมของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2523 และให้เริ่มใช้ในปีพ.ศ. 2524 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์  ได้มีหนังสือพร้อมด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เสนอต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาแก้ไขวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 เรื่อง คือ

1.วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่กำหนดให้เป็นวันกองทัพไทย ปัจจุบันที่กำหนดวันที่ 25 มกราคม ที่ถูกต้องคือเป็นวันที่ 18 มกราคม

2. วันคล้ายวันปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตราธิราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันที่กำหนดคือวันที่ 28 ธันวาคม แต่ที่ถูกต้องคือวันที่ 27 ธันวาคม

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย โดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นประธานกรรมการ พิจารณา โดยมีความเห็นว่า  วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ซึ่งกำหนดให้เป็นวันกองทัพไทย คือวันที่ 25 มกราคม นั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้เคยคำนวณไว้ว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม เมื่อ 40 ปีมาแล้ว  และศาตราจารย์ ดร. ประเสริฐ  ณ นคร  ผู้เป็นรองประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ก็ได้คำนวณและเขียนบทความว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม เช่นเดียวกัน  โดยระบุถึงสาเหตุว่า “ผู้คำนวณสำคัญผิดว่า วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 15 หรือ 16 เมษายน  แต่แท้จริงแล้วนั้น วันเถลิงศกเพิ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนเมื่อ พ.ศ. 2443 และตรงกับวันที่ 15 เมษายนบ้าง และ 16 เมษายนบ้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474   ซึ่งปีที่กระทำยุทธหัตถีนั้นวันเถลิงศกกับตรงวันศุกร์ที่ 9 เมษายน แต่ผู้คำนวณเข้าใจว่า วันเถลิงศกปีนั้นตรงกับศุกร์ที่ 16 เมษายน ซึ่งเท่ากับว่าคำนวณผิดไป 7 วัน”

ภายหลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาตามกระบวนการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 กำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยนับแต่บัดนั้น

ความเป็นมาของการจัดตั้งกองทัพไทย

          หลักฐานที่พบในการเริ่มจัดตั้งกองทัพไทยนั้นปรากฏในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ได้จารึกถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้รวบรวมและก่อตั้งราชอาณาจักรไทย  ให้ชายไทยทุกคนต้องมีหน้าที่เป็นทหารป้องกันประเทศ ได้แก่

  • ทหารม้า  จัดเป็นพลเดินเท้า หน่วยเคลื่อนที่เร็ว
  • ทหารช้าง จัดเป็นหน่วยกำลังรบโจมตีเพื่อหวังในชัยชนะเด็ดขาด

ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการแยกเป็นพลเรือนและทหาร กำหนดให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับราชการทหาร โดยทหารจะแบ่งเป็น 4 เหล่า ในชื่อ จตุรงคเสนา คือ เดินเท้า ม้า รถ และอื่น ๆ   ในปัจจุบัน กองทัพไทย           มีกองบัญชาการทหารสูงสุดทำหน้าที่เป็นหน่วยบังคับบัญชาของทหารทั้งสามเหล่าทัพ ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โดยมีการปรับปรุงพัฒนาทางการทหารให้มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการการศึกษา การฝึก การยุทธ ฯลฯ

กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพไทย

– พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือ  “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งนอกจากจะจัดขึ้นในวันกองทัพไทยแล้ว ยังมีการจัดในวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ

–  พิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ทางทหาร อาทิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ

– พิธีทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนทหารหาญผู้เคยร่วมกอบกู้เอกราชและปกป้องผืนแผ่นดินไทย

ภาพตราสัญลักษณ์กองบัญชาการกองทัพไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก

จส.กจสท.สส.. Signal Redio Network. (2546). มารู้จัก “วันกองทัพไทย” กันเถอะ!. ค้นเมื่อ 13 มกราคม 2565. จาก https://jssignalradio.com/lo/articles/

ธวัลกร ฉัตราธรรม. (2537). วันสำคัญในรอบ 1 ปีที่คนไทยต้องรู้. กรุงเทพฯ : แพรธรรมสำนักพิมพ์

innnews.co.th. (2521, มกราคม 20).  มารู้ที่มาของวันกองทัพไทยกันเถอะ!!. ค้นเมื่อ 13 มกราคม 2565. จาก https://  www.innnews. co.th/lifestyle/news_26502/

ขอบคุณภาพประกอบ

1.ภาพเวคเตอร์ยุทธหัตถี

ADMIN.(2014, พ.ค. 28). (ศึกชนช้าง) การทำยุทธหัตถี สงครามยุทธหัตถี ศึกแห่งพระเกียรติยศและเอกราชชาติสยาม (วันยุทธหัตถี 18 มกราคม). ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565. จาก http://www.anantasook.com/elephant-duel-king

2. ภาพตราสัญลักษณ์กองบัญชาการกองทัพไทย

Thailand e-Government. กองบัญชาการกองทัพไทย. ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565. จาก https://www.egov.go.th/th/government-agency/1599/

Thailand e-Government. กองทัพบก. ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565. จาก https://www.egov.go.th/th/government-agency/87/

Thailand e-Government. กองทัพเรือ. ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565. จาก https://www.egov.go.th/th/government-agency/89/

วิกกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. (2565, มกราคม 14) กองทัพอากาศไทย. ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565. จาก https://th.wikipedia.org/wikiกองทัพอากาศไทย