วันฮาโลวีน นับเป็นหนึ่งวันอันสำคัญของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเคลต์ (Celt) ถือกันว่า เป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันต่อมา วันที่ 1 พฤศจิกายน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวเคลต์ ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคมนี่เอง ที่ชาวเคลต์เชื่อว่า เป็นวันที่คนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็น ต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงสู่ร่างตน ชาวเคลต์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน ให้อากาศหนาวเย็น และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย และยังพยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้าย และส่งเสียงดัง เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป   เดิมทีเทศกาลฮาโลวีนจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และประเทศข้างเคียงเท่านั้น แต่เมื่อชาวไอริช และชาวสกอตอพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษที่ 1840 ก็ได้นำเอาประเพณีนี้มาปฏิบัติด้วย ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงนำมาปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนถึงทุกวันนี้

ภาพฮาโลวีน
ที่มา : https://pixabay.com/en/halloween-pumpkin-spooky-spirit-496282/

ทำไมสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน ถึงเป็นหัวฟักทองแกะสลักสีส้ม

เจ้าฟักทอง นั้นมีชื่อว่า Jack O Lantern เป็นตำนานของชาวไอริช ที่เป็นนักมายากลขี้เมาและได้ทำข้อตกลงกับปีศาจตนหนึ่งว่า “หากตนเสียชีวิตแล้ว ขอเพียงไม่ไปทั้งนรกหรือสวรรค์” เมื่อถึงคราวปีศาจชีพจรดับ ปีศาจตนนั้นจึงมอบถ่านที่คุกรุ่นให้กับแจ็ค เขาจึงนำไปใส่ไว้ในหัวผักกาด เพื่อคอยปัดเป่าความหนาวเย็น ต่อมาชาวไอริชจึงแกะหัวผักกาดและนำถ่านมาใส่ไว้เช่นกัน เพื่อเป็นสิริมงคลในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตลอดทั้งปี เมื่อกาลเวลาผ่านไปประเพณีดังกล่าว เริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศอเมริกา แต่หัวผัดกาดเป็นสิ่งที่หายาก จึงนำลูกฟักทองมาแกะสลักแทน และนี่คือ จุดเริ่มต้นของสัญลักษณ์สีส้ม และสีดำ ทั้งนี้ สีดำบ่งบอกถึงความมืดมิดของช่วงเวลากลางคืน ส่วนสีส้ม คือ แสงสว่างที่ลุกโชติเพื่อขับไล่ผีร้ายนั้นเอง

ประเพณีต่างๆ ที่ถือปฎิบัติว่าเป็นการฉลองเทศกาลฮาโลวีน

ประเทศอังกฤษ

ที่ประเทศอังกฤษถือว่าวันฮาโลวีนนี้เป็นวันดี เหมาะสำหรับจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตา หรือแม้แต่เรื่องความตาย ยังถือว่า วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็นต้องการ สามารถเป็นไปตามใจปรารถนา ประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาวอังกฤษจะออกมาหว่าน และไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน และท่องคาถาร้องขอ ให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก้จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็นสามีของตนในอนาคต อีกประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษ คือ การหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำ พร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดย ใช้ปากคาบเหรียญ และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน

ประเทศอเมริกา

ประเพณีของประเทศมหาอำนาจนี้ดูจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าประเพณีของชาวอังกฤษ นั่นก็คือ ประเพณี Trick or Treat ที่จะให้เด็กๆ แต่งหน้า แต่งตัวเป็นผีเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อร้องขอขนมเค้กสำหรับวิญญาณ (Soul cake) พร้อมกับส่งเสียงทักทายว่า “Trick or Treat” หากเจ้าของบ้านตอบว่า Trick จะถูกเด็กๆ แกล้ง แต่ถ้าตอบว่า Treat เจ้าของบ้านหลังนั้นก็ต้องนำขนมเค้กมาให้พวกเด็กจนกว่าพวกเขาจะพอใจ เด็กที่แต่งตัวเป็นภูติผีวิญญาณเปรียบเหมือนสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างคนเป็นและคนตาย โดยเจ้าของบ้านที่ให้ขนมแก่เด็กๆ สามารถฝากคำอธิษฐานไปถึงคนตายได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งเด็กๆ ขอขนมได้มากเท่าใด วิญญาณที่ยังเวียนวนอยู่ในนรกก็จะยิ่งได้รับส่วนบุญ และมีโอกาสขึ้นสวรรค์มากยิ่งขึ้นด้วย

ภาพการแต่งตัววันฮาโลวีน
ที่มา : https://pixabay.com/en/halloween-diademuertos-animas-death-683170/

ความเป็นไปในปัจจุบัน 

ปัจจุบัน ประเพณีวัน Halloween จะเน้นที่การแต่งกายปลอมตัวเป็นผี เพื่อการพบปะ สังสรรค์ เฮฮา สนุกสนานมากกว่าจะเป็นการระลึกถึงผู้ตาย ดั่งเช่นแต่เก่าก่อน อย่างไรก็ตาม คนไทยปัจจุบันรู้จักเทศกาลฮาโลวีนเหมือนกับที่รู้จักเทศกาลต่างๆ ตามประเพณีของชาวยุโรป เช่น อีสเตอร์ วันขอบคุณพระเจ้า วันคริตสต์มาส หรือวันวาเลนไทน์ ซึ่งในคืนวันฮาโลวีนในกรุงเทพฯ มักจะจัดงาน โดยเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวยามราตรีแต่งกายด้วยชุดแฟนซี สวมหน้ากากเป็นปีศาจรูปร่างต่างๆ เพื่อเป็นสีสันยามค่ำคืนฮาโลวีน และกิจกรรมรื่นเริงแบบนี้ได้กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ภาพคนแต่งผี
ที่มา : https://www.facebook.com/fofame

บรรณานุกรม

Thomas Thomson. (1896). A History of the Scottish People from the Earliest Times. ค้นเมื่อ  19 กันยายน 2559. จาก https://books.google.co.th/

วิกิพีเดีย. (2558, ตุลาคม). ฮาโลวีน. ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ฮาโลวีน

กนกวรรณ ทองตะโก. (2546, ตุลาคม). ฮาโลวีน. ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. จาก http://www.royin.go.th

ภาพประกอบ

Pixabay. (ม.ป.ป.). ภาพการแต่งตัววันฮาโลวีน. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2559, จาก https://pixabay.com/en/halloween-diademuertos-animas-death-683170/

Pixabay. (ม.ป.ป.). ภาพฟักทอง. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2559, จาก  https://pixabay.com/en/pumpkin-halloween-face-lantern-151300/

Openclipart. (ม.ป.ป.). ภาพวันที่ Halloween. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2559จาก https://openclipart.org/detail/165001/halloween-banner

Pixabay. (ม.ป.ป.). ภาพฮาโลวีน. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2559, จาก https://pixabay.com/en/halloween-pumpkin-spooky-spirit-496282/

Facebook. (ม.ป.ป.). ภาพคนแต่งผี. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2559, จาก https://www.facebook.com/fofame

เรียบเรียงโดย อังสุมาลิน  ศรีแสงโชติ นักศึกษาฝึกงาน  มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์
เอกบรรณารักษและสารสนเทศศาสตร์ ภาคการศึกษา 1/2559