ไทยซอส รสชาติแห่งภูมิปัญญา : น้ำปลา รสแท้คู่ครัวไทย

คนไทยแต่ครั้งอดีตนิยมใช้เกลือเป็นหลักในการปรุงรสอาหาร  ต่อมาเมื่อได้มีการถนอมอาหารโดยนำสัตว์น้ำกับเกลือหมักเคล้ากัน เช่น ปลาร้า กะปิ  และในระหว่างขั้นตอนการผลิตยังได้น้ำรสเค็มที่มาจากการหมักนั้น มาใช้ปรุงรสเค็มได้อีกโดยนำมาใช้ปรุงรสในลักษณะของน้ำปลา  แต่จากแหล่งอ้างอิงถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการผลิตน้ำปลาในประเทศไทยนั้นมาจากชาวจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพ  เป็นผู้ริเริ่มผลิตและนำออกจำหน่ายโดยมักบรรจุลงไห มีการผนึกปากไหและมีตรายี่ห้อสินค้าสลักบนไหอย่างดี ซึ่งปัจจุบันไหน้ำปลาได้กลายเป็นของเก่าสะสมที่มีมูลค่าอยู่พอควร

การทำน้ำปลาสามารถใช้ปลาทะเล เช่น ปลากะตัก  ปลาหลังเขียว  และปลาน้ำจืด เช่นปลาสร้อย ปลาซิว  หรือใช้สัตว์อื่นแทนปลา เช่น หอย ปู กุ้ง โดยใช้เกลือเป็นส่วนประกอบหลัก แต่โดยทั่วไปปลากระตัก เป็นปลาที่นิยมนำมาผลิตน้ำปลา    เราสามารถแบ่งประเภทของน้ำปลาได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. น้ำปลาแท้  คือน้ำปลา ที่ได้จากการหมักปลาตามกรรมวิธีผลิตน้ำปลา

2. น้ำปลาจากสัตว์อื่น  คือน้ำปลาที่มีการใช้สัตว์อื่นในการหมักแทนการใช้ปลา โดยอาจมีน้ำปลาแท้ผสมอยู่หรือ   ไม่มีก็ได้

3. น้ำปลาผสม   คือน้ำปลาที่มีการระเหยน้ำออกไป  หรือน้ำปลาตามข้อ 1 และ 2 ที่มีการผสมสิ่งปรุงแต่งสี รสและกลิ่น โดยใช้สารที่ไม่เป็นอันตราย

          กรรมวิธีการผลิตน้ำปลา  หลักขั้นตอนสำคัญคือการล้าง หมัก กรอง  ซึ่งกรรมวิธีการผลิตทั่วไปจะเริ่มด้วย

          ๑. ล้างปลาให้สะอาดปราศจากสิ่งปลอมปน

          ๒. เคล้าปลาด้วยเกลือในอัตรา ปลา 2-3 ส่วน ต่อ เกลือทะเลชนิดเม็ด 1 ส่วน หมักในไหหรือโอ่งทึบแสง

          ๓. เทเกลือปิดทับหน้า ใช้ไม้ไผ่สานปิดผิวทับด้วยหินหนัก ก่อนปิดฝาภาชนะให้สนิทแน่นตั้งในที่แสงแดดส่องถึงหมักอย่างน้อย 8 เดือน – 1 ปี

          ๔. เมื่อครบเวลาแล้วเปิดฝา ใช้กระชุ (อุปกรณ์ทรงกระบอกใหญ่ สานด้วยไม้ไผ่) กดลงตรงกลางภาชนะหมัก ให้ปลายกระชุแตะถึงก้นภาชนะ ส่วนบนกระชุต้องพ้นเหนือของเหลว  แล้วใช้กระบวยตักนำ้ปลาในปล่องกระชุ  จากนั้นจึงเทกลับใส่ปลาที่หมักนอกพื้นที่กระชุ เพื่อให้กรองผ่านเศษปลาอีกรอบ ซึ่งต้องตักน้ำปลาในพื้นที่กระชุให้หมด น้ำจากปลานอกกระชุ จะค่อย ๆ ซึมเข้าไปในกระชุใหม่ ต้องตักออกกรองแบบเดิมอีก โดยทำ  2-3 รอบต่อครั้ง  ใน 1 สัปดาห์ทำ 2 ครั้ง   เวียนทำอยู่เช่นนี้จนครบ 1 เดือน

          ๕. เมื่อเวียนกรองจนครบ ๑ เดือนแล้วจึงตักออกมาใส่ไหหรือโอ่งทึบแสงอีกใบหมักทิ้งไว้อีก 1 เดือน          

๖. นำน้ำปลาที่หมักได้ที่แล้วตักขึ้นไปผ่านวัสดุกรอง ก่อนนำไปบรรจุภาชนะรอการบริโภค  จะได้เป็นน้ำปลาแท้  ชั้นที่ 1 ที่อุดมไปด้วยโปรตีน แร่ธาตุรวมถึงมีกลิ่นและรสชาติที่ดี

การผลิตน้ำปลามีหลายสูตร ทั้งขั้นตอน ส่วนประกอบของวัตถุดิบอาจมีความแตกต่างกันไปตามสูตร ของแต่ละบุคคลหรือพื้นที่ ซึ่งความเข้มข้นของสี กลิ่นและรสชาติจึงแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไป น้ำปลาแท้ที่ดีจะมีลักษณะดังนี้

  – น้ำปลาแท้จะมีสีน้ำตาลแดงที่ใส ไร้ตะกอนแม้นำขวดที่บรรจุไปส่องกับแสงไฟ

  – น้ำปลาแท้เมื่อเขย่าขวดที่บรรจุจะมีฟองอากาศมาก  หากเป็นน้ำปลาที่มีโปรตีนปลาจำนวนน้อยจะไม่ค่อยมีฟอง

    หรือแม้เขย่าแล้วฟองก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว

  –  เมื่อเหยาะน้ำปลาแท้ลงบนกระทะร้อน ๆ กลิ่นจะหอมชัดเจนมากกว่าน้ำปลาเทียม หรือน้ำปลาผสม

  –  หากทดสอบโดยใช้กระดาษกรอง เช่น กระดาษกรองกาแฟ น้ำปลาแท้จะให้สีปกติของน้ำปลา ในขณะที่หากเป็น      น้ำปลาเทียมจะมีสีเข้มกว่า และมักมีคราบและตะกอนปรากฏ

ขอบคุณเนื้อหา  

อรวรรณ คงพันธุ์, กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. การผลิตน้ำปลาด้วยวิธีการหมักแบบธรรมชาติ.    ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม  2564.  จาก https://www.fisheries.go.th/industry/files/publication/Fishsauce-th.pdf

Baboo. แชร์ การทำน้ำปลาแบบโฮมเมด (ยุคโบราณค่ะ). ค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2564. จาก https://pantip.com/topic/35733321

รายการ รู้เท่ารู้ทัน, ไทยPBS. น้ำปลา แท้หรือปลอมดูอย่างไร. ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564.  จาก https://www.youtube.com/ watch?v =Dm-veKUX7hk

รายการ กิน อยู่ คือ, ไทยPBS. น้ำปลาแท้ อร่อยแน่นอน. ค้นเมื่อ  17 ตุลาคม  2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=B8-JdSL9kcQ

ปลากะตัก. ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564. จาก  https://th.wikipedia.org/wiki/ปลากะตัก.

ปลาซิวแก้ว.  ค้นเมื่อ  17 ตุลาคม 2564. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาซิวแก้ว

ปลาสร้อย/ปลาสร้อยขาว แหล่งที่พบ ประโยชน์ และราคา. ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564. จาก  https://siamroommate.com/ปลาสร้อยขาว.

วงศ์ปลาหลังเขียว. ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วงศ์ปลาหลังเขียว

อาหารเพื่อสุขภาพ มีแคลเซียมสูง ผ่านกรรมวิธีการถนอมอาหารแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่มีสารเคมีเจือปนเก็บไว้ได้นาน.  ค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564. จาก https://sites.google.com/site/pocksakda/keiyw-kab